เอาตัวรอดจากไฟไหม้ เตรียมรับอัคคีภัยยามฉุกเฉิน

4 ก.ค. 2565
           ไม่กี่วันก่อนได้มีข่าวไฟไหม้อาคารหลังหนึ่ง และเป็นที่น่าเสียใจอย่างยิ่งที่มีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นั้นด้วย เหตุสลดนี้ได้ทำให้ทุกคนเริ่มหันมาตระหนักถึงภัยจากไฟกันมากขึ้น รวมถึงคำถามมากมายที่ผุดขึ้นมาอย่าง เราจะเอาชีวิตรอดจากเหตุไฟไหม้ได้อย่างไร โดยเฉพาะในตึกสูงที่มีกลุ่มคนอยู่เป็นจำนวนมากและยากต่อการอพยพอย่างคอนโดมิเนียม

ไฟไหม้เป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิด ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมทำให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน แต่แม้ว่าเราจะระมัดระวังมากเพียงใด บางครั้งก็อาจมีปัจจัยอื่นๆที่ไม่อาจควบคุมเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นความประมาทเลินเล่อของเราเอง หรือความผิดปกติของอุปกรณ์ไฟฟ้า ก็ล้วนมีโอกาสทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้ทั้งสิ้น การรับมืออย่างไม่ประมาทจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรเตรียมพร้อมอยู่เสมอ ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยลดความเสียหายลงให้น้อยที่สุด

ข้อควรปฏิบัติเพื่อป้องกันเหตุไฟไหม้

การป้องกันอัคคีภัยเป็นสิ่งที่สิ่งสำคัญมาก เพราะหากประมาทเพียงเสี้ยววินาทีความเสียหายที่ร้ายแรงอาจเกิดขึ้นได้แบบไม่ทันตั้งตัว และเพื่อป้องกันเหตุการณ์เศร้าสลดดังกล่าว จึงควรปฏิบัติดังนี้

      1. เก็บสิ่งของเครื่องใช้ที่อาจจะเป็นเชื้อเพลิงให้เรียบร้อย

เช่น หนังสือพิมพ์ เสื้อผ้าเก่าๆ ครื่องใช้ภายในบ้านที่มีส่วนผสมของสารเคมีที่ติดไฟง่าย เพราะหากวัตถุเหล่านี้ได้รับอุณหภูมิสูงเกินไป อาจทำให้เกิดการระเบิดหรือติดไฟได้

      2. หมั่นตรวจตราเครื่องใช้ไฟฟ้าและปิดสวิทซ์ไฟทุกครั้งที่ไม่มีคนอยู่บ้าน

สังเกตสภาพปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าก่อนใช้งานทุกครั้งว่าอยู่ในสภาพดีหรือไม่ หากพบความผิดปกติควรรีบซ่อมแซมทันที

      3. ติดตั้งเครื่องตัดไฟ

จากสถิติเหตุเพลิงไหม้ที่เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจรมีมากถึงร้อยละ 10 ทั้งยังทำให้เกิดความสูญเสียรุนแรงทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ดังนั้นการติดตั้งเครื่องตัดไฟจะช่วยลดการลัดวงจรได้หากแผงไฟเกิดทำงานหนักมากเกินไป

      4. ติดตั้งถังดับเพลิง

ศึกษาวิธีการใช้งานให้ถูกต้องและหมั่นตรวจสอบสภาพถังดับเพลิงให้ใช้งานได้ตลอดเวลา

      5. จัดสถานที่ให้เป็นระเบียบและระมัดระวังอยู่เสมอ


ห้องที่เป็นระเบียบเรียบร้อยจะลดโอกาสในการเพลิงไหม้ลงได้ นอกจากนั้น ควรระมัดระวังในการใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าและอื่นๆ เช่น ปิดแก๊สหุงต้มทุกครั้งหลังใช้งาน ไม่จุดธูปเทียนบูชาพระทิ้งไว้เมื่อไม่มีคนอยู่ในบ้าน และควรเชฟเบอร์สถานีดับเพลิงใกล้บ้านหรือเบอร์แจ้งเหตุฉุกเฉินเอาไว้ด้วย


สิ่งที่ควรทำเพื่อเอาชีวิตรอดจากเพลิงไหม้

แม้จะระมัดระวังเพียงใด แต่บางครั้งก็อาจมีเหตุปัจจัยที่คาดไม่ถึงขึ้นได้ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย เราจึงควรมีความรู้เบื้องต้นในการเอาตัวรอดติดตัวไว้ใช้ในยามคับขัน ตามคำแนะนำของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ดังนี้

      1. ตั้งสติแล้วรีบพาตัวเองออกมาจากที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุด

      2. ดึง หรือกดสัญญานแจ้งเหตุเพลิงไหม้ และควรตะโกนบอกทุกคนที่อยู่ในพื้นที่

      3. พยายามหลีกเลี่ยงการสูดควันเข้าไป

      4. เอาผ้าชุบน้ำปิดปากปิดจมูกและรีบหาทางออกมาจากที่เกิดเหตุ

      5. อย่าเพิ่งรีบเปิดประตูทันที ควรเช็คดูก่อนว่าหลังประตูมีไฟหรือไม่ด้วยการเอามือจับที่ประตู หากประตูร้อนนั้นแสดงว่าอาจมีไฟอยู่ จึงไม่ควรเปิดเพราะจะทำให้ตกอยู่ในวงล้อมของกองเพลิง ควรหาผ้ามาอุดช่องใต้ประตู เพื่อป้องกันไม่ให้ควันไฟเข้ามาในห้องและส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ เช่น ส่องไฟออกไปทางหน้าต่าง เพื่อให้ภายนอกรู้ว่ามีคนติดอยู่ในห้อง

      6. หลีกเลี่ยงการใช้ลิฟต์ ควรใช้บันไดหนีไฟแทน

      7. หมอบคลานต่ำ เพราะออกซิเจนจะลอยอยู่ในที่ต่ำและหนีออกไปสู่ประตูทางออกฉุกเฉินที่ใกล้ที่สุด

      8. ห้ามหนีไปที่ห้องน้ำหรือจุดอับ เพราะอาจทำให้ถูกไฟคลอกเสียชีวิตได้

      9. หากไฟติดเสื้อผ้าให้กลิ้งตัวกับพื้น อย่าวิ่ง! เพราะจะยิ่งให้ไฟลุกลามเร็วขึ้น


ปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากมีแผลไฟไหม้

เมื่อออกจากกองเพลิงได้แล้ว มีโอกาสสูงมากที่คุณจะได้รับบาดเจ็บ ดังนั้นการปฐมพยาบาลเบื้องต้นก็เป็นสิ่งที่ควรเรียนรู้เอาไว้เช่นกัน โดยการปฐมพยาบาลจะแบ่งตามระดับความรุนแรงของแผลได้ 3 ระดับคือ

      1. แผลไหม้ระดับแรก - First degree burn

เกิดบริเวณหนังกำพร้า ผิวหนังมีสีแดง ไม่มีถุงน้ำพองใส มีอาการปวดแสบปวดร้อน แผลระดับนี้หายเร็วและไม่ทิ้งรอยแผลเป็นเอาไว้

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น

เปิดน้ำให้ไหลผ่านบริเวณบาดแผลเพื่อระบายความร้อน และปิดแผลด้วยผ้าสะอาด

      2. แผลไหม้ระดับที่สอง - Second degree burn

เกิดขึ้นที่ชั้นหนังแท้ใต้ผิวหนังกำพร้า ผิวหนังมีถุงน้ำพองใสเกิดขึ้น ถ้าถุงน้ำแตกจะเห็นผิวหนังสีชมพูหรือแดง และมีอาการปวดแสบแผล มักจะหายภายใน 2-3 สัปดาห์ และไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น

เปิดน้ำไหลผ่านบาดแผลแล้วใช้ผ้าก๊อซปิดและไปพบแพทย์ ห้ามเจาะตุ่มน้ำใสๆ โดยเด็ดขาดเพราะอาจทำให้แผลติดเชื้อได้

      3. แผลไหม้ระดับที่สาม - Third degree burn

ผิวหนังจะถูกทำลายตลอดชั้นความหนาของผิวหนัง ชั้นประสาท หรืออาจลึกถึงกล้ามเนื้อและกระดูกขนหลุดจากผิวหนัง ไม่มีความรู้สึกเจ็บปวด มีแนวโน้มการติดเชื้อของบาดแผลสูง


การปฐมพยาบาลเบื้องต้น

เนื่องจากเป็นบาดแผลในระดับที่รุนแรงมาก ให้รีบน้ำส่งแพทย์ให้เร็วที่สุด

ทั้งหมดนี้เป็นวิธีเอาตัวร้อนขั้นพื้นฐานที่เราทุกคนควรเรียนรู้เอาไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่อาศัยในคอนโดหรืออาคารสำนักงาน นอกจากความรู้เรื่องเหล่านี้ ความรอบคอบระมัดระวังก็เป็นสิ่งที่ทุกคนควรมีเช่นเดียวกัน ทั้งหมดก็เพื่อความปลอดภัยของตัวเองและคนที่คุณรักนั้นเอง


เรื่องราวที่ใกล้เคียง

ข้อมูลบริษัท
บริษัท บีเคเค เรียลตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด
79/48 ถนนนิมิตรใหม่ แขวงมีนบุรี เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร 10510
020759855 ,0983029898
info.bkkrealty@gmail.com