เตรียมตัวอย่างไรเมื่ออุกภัยมาเยือน

4 ก.ค. 2565

          เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน หัวข้อสนทนาของคนส่วนใหญ่ก็คงจะเป็นเรื่อง ‘น้ำท่วม’ ปัญหาน้ำท่วมเป็นปัญหาที่อยู่คู่กับคนไทยมานานจนเรียกว่าเป็นภัยพิบัติประจำประเทศเลยก็ว่าได้ โดยเหตุการณ์ที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดก็คงหนีไม่พ้น น้ำท่วมประเทศไทย พ.ศ. 2554 ที่เกิดขึ้นระหว่างฤดูมรสุมในปี พ.ศ. 2554 เหตุการณ์นี้กินเวลานานกว่าสองเดือนและมีผู้เสียชีวิตมากถึง 527 ราย ซึ่งนับเป็นหนึ่งในภัยพิบัติที่รุนแรงและน่าเศร้าที่สุดของไทยจนถูกกล่าวขานว่าเป็น "อุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดทั้งในแง่ของปริมาณน้ำและจำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบ" เลยทีเดียว


หลังน้ำลดจะพบปัญหาอะไร ?

         ปัญหาน้ำท่วมสร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนที่อยู่อาศัยและทรัพย์สินเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นสภาพบ้านที่ทรุดโทรม เฟอร์นิเจอร์ ข้าวของเครื่องใช้เสียหาย รวมถึงสิ่งสกปรกที่มากับน้ำและเชื้อรา โดยมากขยะหลังน้ำท่วมจะแบ่งเป็นสองชนิด คือ

       • ขยะมูลฝอย เช่น ขยะที่ลอยมาตามน้ำ กิ่งไม้ ดินทราย เศษอาหาร ฯลฯ ซึ่งเป็นขยะที่เราต้องระมัดระวังเพราะอาจมีสารพิษหรือเชื้อโรคเจือปนอยู่

       • ซากความเสียหาย เช่น ซากเฟอร์นิเจอร์ที่พังเสียหาย ประตูหน้าต่างที่ผุพังเกินกว่าจะซ่อมแซม หรือ ฟูก หมอน ที่สกปรกจนไม่สามารถใช้งานต่อได้ เป็นต้น

นอกจากปัญหาขยะพวกนี้แล้ว หลังน้ำลดก็อาจจะพบปัญหาเรื่องระบบสุขาภิบาล และระบบไฟที่ขัดข้องอีกด้วย


เตรียมบ้านเพื่อรับมือ ‘อุทกภัย’

        การเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับน้ำท่วมนั้นมีหลายระดับ แต่สำหรับใครที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมหรือต้องเจอกับน้ำท่วมทุกครั้งที่ฝนตกหนัก ขอแนะนำให้เตรียมเครื่องสูบน้ำเอาไว้ด้วย เพราะในกรณีที่น้ำระบายไม่ทันและท่วมขังเป็นเวลานาน ตัวบ้านก็จะยิ่งได้รับภาระหนักมากขึ้น แต่หากเรามีเครื่องสูบน้ำก็จะช่วยลดความเสียหายที่เกิดจากการแช่น้ำเป็นเวลานานลงได้ นอกจากเครื่องสูบน้ำที่ควรซื้อติดบ้านเอาไว้แล้ว สิ่งที่เราควรเตรียมเพิ่มเติม มีดังนี้

        1. เตรียมป้องกันน้ำไหล

ความสกปรกที่ไหลมากับน้ำคือสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้หลังน้ำท่วม รวมถึงการกร่อนของพื้นที่และการหลุดลอกของผนังหลังจากแช่น้ำนานๆ ดังนั้น เพื่อลดความเสียลง การป้องกันไม่ให้น้ำเข้ามาในบ้านจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่เราจะกันน้ำได้ร้อยเปอร์เซ้นต์ ดังนั้นการทำให้น้ำเข้ามาได้ช้าลงจนเราสามารถสูบออกทันจึงเป็นวิธีที่ตอบโจทย์ได้พอดี โดยสามารถใช้อุปกรณ์ต่างๆที่สามารถหาได้ทั่วไปมาทำเครื่องป้องกันน้ำเข้าบ้านได้ เช่น กระสอบทราย อิฐ หรือบานเหล็ก เตรียมอุปกรณ์เหล่านี้เอาไว้เพื่อที่พอเกิดน้ำท่วมแล้วก็สามารถหยิบมาใช้ได้ทันที สำหรับบ้านอยู่ในบริเวณที่ราบต่ำหรือที่ราบลุ่มใกล้แม่น้ำ ควรทำกำแพงกั้นน้ำรอบบ้านโดยใช้คอนกรีตเสริมเหล็กเอาไว้ด้วย

       2. เตรียมป้องกันน้ำผุด

นอกจากน้ำจากภายนอกแล้ว ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดน้ำท่วมคือ น้ำผุด ซึ่งเป็นการที่น้ำไหลย้อนเข้ามาตามท่อระบายน้ำและผุดขึ้นมาภายในบ้านเนื่องจากระดับน้ำภายนอกสูงขึ้น ซึ่งเป็นธรรมชาติของน้ำที่จะรักษาระดับให้เท่ากันอยู่เสมอ เราสามารถแก้ไขได้ด้วยการอุดรูหรือทับท่อระบายน้ำเพื่อไม่ให้น้ำเอ่อล้นขึ้นมา

       3. เตรียมเสบียง

ถ้าคุณอาศัยอยู่พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนควรจัดเตรียมสิ่งของที่จำเป็นเผื่อไว้ก่อน ไม่ว่าจะเป็นอาหารแห้ง น้ำเปล่า ยาสามัญประจำบ้าน เช่น ยาแก้ปวดลดไข้ แอลกอฮอล์ เกลือแร่ ยาแก้แพ้ ยารักษาผู้ที่มีโรคประจำตัว รวมถึงอุปกรณ์สื่อสาร แบตเตอรี่สำรอง อุปกรณ์ชูชีพ เช่น ห่วงยาง เสื้อชูชีพ ไฟฉาย เป็นต้น

       4. เตรียมขนย้าย

ควรขนย้ายเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้าขึ้นที่สูงหรือชั้น 2 ของบ้าน ส่วนปลั๊กไฟควรยกระดับให้สูงประมาณ 1-1.2 เมตร ถ้าไม่สามารถยกระดับปลั๊กไฟได้ ก็ควรตัดวงจรไฟฟ้าของเต้ารับที่น้ำจะท่วมถึงโดยให้ช่างผู้เชี่ยวชาญมาตัดวงจรให้ ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันไฟฟ้าช็อตนั้นเอง

       5. เตรียมรับข่าวสาร

ติดตามข้อมูลข่าวสาร การพยากรณ์อากาศ และคอยสังเกตความผิดปกติต่างๆ เช่น ระดับน้ำ สีของแม่น้ำ ปริมาณฝน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือได้ทันเวลา

       6. เตรียมประกันให้บ้าน

การทำประกันให้บ้าน จะทำให้คุณรู้สึกอุ่นใจขึ้นเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน เพราะบริษัทประกันจะเข้ามาช่วยเครื่องค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมดูแลบ้านให้คุณ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในหลายๆกรณีได้

น้ำท่วมเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่สามารถหาวิธีลดความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ การพยายามเรียนรู้และเข้าใจในผลกระทบจากน้ำท่วมจะทำให้เราหาวิธีการป้องกันที่มีประสิทธิภาพและปกป้องบ้านของเราให้ปลอดภัยยิ่งขึ้นนั้นเอง


เรื่องราวที่ใกล้เคียง

ข้อมูลบริษัท
บริษัท บีเคเค เรียลตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด
79/48 ถนนนิมิตรใหม่ แขวงมีนบุรี เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร 10510
020759855 ,0983029898
info.bkkrealty@gmail.com